ร้านค้าออนไลน์ ปรับตัวยังไง เมื่อโพส Facebook ไป ไม่มีคนเห็น [Organic Reach]
ร้านค้าออนไลน์ จะทำยังไง เมื่อ Facebook ลด Organic Reach เหลือไม่ถึง 1%
ตั้งแต่โลกใบนี้มี Facebook เกิดขึ้นมา ก็ทำให้หลายธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ผลกำไรทะลุเพดาน เพียงเพราะว่าใช้ Facebook เป็นเครื่องมือในการทำการตลาด จนทำให้เกิดการสร้างแฟนเพจขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งแบรนด์หน้าใหม่ SME หรือแม้แต่แบรนด์ยักษ์ใหญ่เองก็กระโดดเข้ามาใช้ Facebook เป็นเครื่องมือสื่อสาร ส่งเสริมการขาย หรือใช้เป็นระบบลูกค้าสัมพันธ์ก็ตามแต่ จนมาบัดนี้ คงไม่มีนักการตลาดหรือผู้บริหารที่ไหน ไม่รู้จัก Facebook
ตอนนี้หลายแบรนด์ หลายองค์กร ได้ใช้ Facebook เป็นเครื่องมือหลักในการทำการตลาดออนไลน์ไปซะแล้ว รวมถึงร้านค้าออนไลน์ต่างๆที่เกิดขึ้นมามากเหมือนดอกเห็ด เรียกได้ว่าเป็นยุคทองของการทำ E-Commerce ของประเทศไทยก็ว่าได้ ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา ที่ร้านค้าบางร้าน มีแค่ Facebook สามารถทำยอดขายได้เป็นหลักล้านบาท เมื่อมี Story Of Success แบบนี้ มีหรือคนอื่นๆจะไม่เข้ามาร่วมจอย หรือจับจองพื้นที่สร้างแบรนด์ สร้างยอดขายบน Facebook ถึงตอนนี้คงไม่ต้องพูดอะไรแล้ว แทบจะไม่มีธุรกิจใดไม่มีอยู่ใน Facebook ล่าสุด แม้กระทั่งเพจที่ให้รับจ้างเข้าเรียนแทน ในระดับมหาวิทยาลัย คิดรายชั่วโมง ก็เป็นหนึ่งในอาชีพที่เกิดขึ้นบน Facebook เช่นกัน
แต่หลายคน (รวมถึงนักการตลาด เจ้าของแบรนด์ต่างๆ) คิดว่า Facebook คือของฟรี จะใช้ยังไงก็ได้นั้น วันนี้ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนแปลงไป (จริงๆก็เปลี่ยนมาตั้งแต่ปี 2012) คือ Organic Reach ของ Facebook Page ได้ลดลงเรื่อยๆ ซึ่งปรับตามอัลกอริทึมของ Facebook เอง เรียงลำดับตามนี้
เปิดตัว Facebook ในปี 2007 Facebook ให้ตัวเลขเฉลี่ยออกมาว่าจะมีคนเห็นโพสของเพจหรือ Reach โดยเฉลี่ยที่ 16%
ปี 2012-2014 ปรับ Reach จาก 16% เหลือ 6.5% ซึ่งบางเพจ เฉลี่ยคนเห็นโพสจริงๆเพียง 2% เท่านั้น
ตอนนี้ ปี 2016 Facebook ได้รับอัลกอรึทึมอีกครั้ง ซึ่งค่าเฉลี่ยออกมาไม่ถึง 1% ของแฟนเพจทั้งหมด
ก่อนหน้านี้ผมเขียนบทความว่า “Facebook ก็เหมือนบ้านเช่า” (คลิกอ่านบทความนั้น) แต่ละเดือนเราต้องจ่ายค่าเช่า ถ้าต้องการให้คนเห็นบ้านของเรา (ซึ่งคือเนื้อหาบนเพจเรา) ด้วยการทำโฆษณามากขึ้น (ถึงแม้ Facebook จะออกมาประกาศเองว่า การปรับอัลกอรึทึมในครั้งนี้ ไม่ใช่นโยบายด้านการสร้างรายได้ก็ตามเถอะ) โฆษณามาก ต้นทุนก็สูงมาก ผลตอบรับที่ได้ อาจจะไม่คุ้มค่าแก่การลงทุนเหมือนอดีต ซึ่งนี่เป็นสาเหตุให้เรานักการตลาด เจ้าของแบรนด์เริ่มหาทางออกในเรื่องนี้ ซึ่งมีอยู่ 2 ทางออก คือ
- ปรับเนื้อหาให้มีคุณภาพ ตามที่ Facebook ต้องการ (ดูรายละเอียดที่นี่ https://www.facebook.com/business/news/Organic-Reach-on-Facebook)
- หาช่องทางอื่นในการทำตลาดออนไลน์
แล้วช่องทางไหนดีหล่ะ มีตั้งหลายตัว Instagram, Twitter, YouTube, Website
คงไม่มีใครตัดสินใจได้ดีเท่าเจ้าของแบรนด์ หรือนักการตลาดที่มีความเชี่ยวชาญในการมองแนวโน้มตลาดในอนาคต เพราะการตัดสินใจขึ้นอยู่กับสินค้า บริการ และจุดประสงค์ว่าต้องการใช้ Social Media เพื่ออะไร
แต่สิ่งที่มาเก็ตติ้งสู้สู้ อยากแนะนำ และจะมาเปรียบเทียบให้เห็นคือชัดๆไปเลยในวันนี้ก็คือ Website สาเหตุที่นำมาแนะนำก็เป็นเพราะว่า ส่วนใหญ่ร้านค้าใน Facebook ส่วนมากไม่มี Website อาศัย Facebook เป็นหน้าร้านเพียงอย่างเดียว และได้รับผลกระทบจากการปรับลด Organic Reach นี้โดยตรง
มาดูกันว่า Website VS Facebook แตกต่างกันอย่างไรบ้าง และทำไมต้องสร้าง Website เพิ่ม
1. การปรับแต่งด้านโครงสร้าง
Facebook คุณไม่สามารถปรับแต่งอะไรได้มากนัก แค่ Logo, Cover, Tab เกิน 95% เป็นไปตามโครงสร้างที่ Facebook กำหนด แตกต่างจาก Website ที่สามารถดีไซน์ทุกอย่างตามต้องการ สี เลเอาท์ กำหนดให้ตรงตามแบรนด์ดิ้งได้หมด
2. สะท้อนภาพลักษณ์ของแบรนด์
นอกจาก Facebook จะปรับแต่งอะไรไม่ได้แล้ว ยังต้องพ่วง Logo, Domain ของ Facebook ไปทุกที่และบางครั้ง มันสะท้อนแบรนด์ของ Facebook มากกว่าแบรนด์ของเราเสียอีก แตกต่างจาก Website ที่ทั้ง Logo หรือ Domain Name เป็นชื่อของเรา สะท้อนถึงแบรนด์เราเต็มตัว
3. เพจเรากำลังโฆษณาให้คู่แข่ง
ฟังไม่ผิดครับ บางครั้งเพจเราก็ทำตัวเป็นตัวกลาง ส่งลูกค้าไปยังเพจของคู่แข่ง ผ่านทางโฆษณา ตรงแถบด้านขวามือไงครับ (เข้าผ่านบราวเซอร์บนคอมพิวเตอร์ถึงจะเห็น) แตกต่างจาก Website ที่เราสามารถทำแบนเนอร์โฆษณาขายของ หรือส่งลูกค้าไปยังหน้าซื้อสินค้าเลยก็ได้ เพราะแบนเนอร์ทุกตัวเรากำหนดลิ้งค์ปลายทางได้เอง
4. สร้างเพจไว้ให้คู่แข่งโจมตีซะงั้น
ฟังก์ชั่น Post to Page ที่ให้ใครก็ได้มาโพสถึงเรา บอกกล่าวความรู้สึก บ่อยครั้งที่คู่แข่งใช้ช่องทางนี้เป็นตัวดิสเครดิตของเพจเรา ทำให้แฟนเพจ หรือลูกค้าใหม่ๆ เข้าใจผิด หรือไม่มั่นใจในตัวสินค้าหรือบริการ และยังมีฟังก์ชั่น Review ให้คะแนนเพจ กรณีนี้ผลที่ได้รับก็เช่นเดียวกัน เป็นเหมือนดาบสองคม (ถึงแม้จะเปิดฟังก์ชั่นนี้ได้ แต่หลายเพจเกิน 70% ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะปิดฟังก์ชั่นนี้ตรงไหน) แตกต่างจาก Website ที่ทุกอย่างคุณควบคุมได้ คอมเมนท์ โพส รีวิว จัดการสิ่งที่คุณต้องการโชว์ให้ลูกค้าเห็นได้ทั้งหมด ระบบ CMS อย่าง WordPress มีระบบบริหารจัดการผู้ดูแลเว็บได้ด้วย
5. เนื้อหา
สำหรับ Facebook หลักการการโพสคือ ต้องโพสเนื้อหาดีๆ อย่างสม่ำเสมอ และเวลาที่มี Engagement สูงๆ จึงจะทำให้ยอด Reach สม่ำเสมอ ซึ่งโอกาสก็คือ ทำดีเสมอตัว ทำแย่วันไหน Reach ก็พร้อมลดทุกเมื่อ แตกต่างจาก Website ถ้าโพสเนื้อหาดี สม่ำเสมอ และมีการทำ SEO ร่วมด้วยแล้ว ยิ่งนานวันยิ่งมีคุณค่า
6. ลูกค้าหาใครเจอง่ายกว่า
การค้นหาร้านบน ช่องค้นหาของ Facebook นั้น เป็นเรื่องยากมาก เพราะชื่อเพจการซ้ำ หรือใกล้เคียงกัน ยิ่งถ้าเพจคุณไม่มีการยืนยันเพจ ไม่ได้เป็นบัญชีที่ผ่านการ Verified ยิ่งทำให้ค้นหาไม่เจอด้วยซ้ำ มากไปกว่านั้น การค้นหาบน Facebook ยังทำให้ลูกค้าเจอเพจคู่แข่งที่มีชื่อใกล้เคียงกัน (โดยเฉพาะร้านที่เป็นตัวแทนจำหน่าย เอาชื่อแบรนด์หลักมาตั้งเป็นชื่อเพจ ยิ่งค้นเจอยากมากๆ) และการค้นหาผ่าน Google ก็ไม่เจอเพจคุณเป็นอันดับแรก แม้จะค้นด้วยชื่อเพจคุณเองก็ตาม แตกต่างจาก Website ที่ยึดหลักโดเมน จึงไม่มีทางซ้ำกันอย่างแน่นอน การค้นหาเลยง่ายกว่ามาก และข้อดีก็คือ การค้นหาผ่าน Google นั้นจะแสดงโดเมนของแบรนด์เราก่อนเป็นอันดับแรก แล้วค่อยแสดงเว็บคู่แข่ง หรือชื่อใกล้เคียงกันในลำดับรองลงมา ทำให้ลูกค้าไม่สับสน
7.การเก็บสถิติข้อมูล
การเก็บสถิติ Facebook มีการเก็บข้อมูลที่สำคัญในการวิเคราะห์พฤติกรรมแฟนเพจ นำมาใช้ในการปรับเนื้อหา ช่วงเวลาโพส และการมีส่วนร่วมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะพูดกันจริงๆ คนที่ได้ประโยชน์ก็คือ Facebook เพราะพวกเขานำข้อมูลของผู้ใช้เหล่านี้ไปจัดกลุ่ม Optimize ในการทำระบบโฆษณาของเขาให้ดีขึ้นนั่นเอง ขอไม่ลงรายละเอียดว่า Facebook เก็บสถิติอะไรบ้าง แต่สิ่งที่ระบบ Analytics บน Website ทำได้ดีกว่า เป็นประโยชน์ในการนำมาวิเคราะห์ได้มากกว่า คือระบบ User Explorer ที่สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมผู้เข้าชม Website ได้แบบรายบุคคล ละเอียดยิบตั้งแต่วันเข้า Website ครั้งแรก จนถึงเข้าไปทำอะไร หน้าไหน ยังไง เลยทีเดียว
มาถึงตรงนี้บอกตรงๆผมเป็นห่วงร้านค้า พ่อค้าแม่ค้าที่ใช้ Facebook เป็นสื่อหลักในการทำตลาดมากๆ เพราะส่วนใหญ่มีน้อยเพจมากๆที่จะเน้นสร้างคุณค่าในเนื้อหาที่โพส (Value Content) ส่วนใหญ่เน้นขาย เน้นโปรโมชั่น ซึ่งรูปแบบนี้ Facebook แจ้งชัดแล้วว่าไม่ปลื้ม!! ดังนั้นการมี Website เพิ่ม น่าจะเป็นทางออกที่ดีครับ
อยากมียอดขาย ใจต้องสู้ สู้สู้ครับ